กระสุนสาด ตายคาหลักประหาร “ครูครอง จันดาวงศ์” ตั้งสมาคมลับ ท้าอำนาจรัฐ!


กระสุนสาด ตายคาหลักประหาร “ครูครอง จันดาวงศ์” ตั้งสมาคมลับ ท้าอำนาจรัฐ!

หลายคนคงจะคุ้นหูกับวาทะ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ซึ่งเป็นของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจากที่ราบสูงภาคอีสาน  “ครูครอง จันดาวงศ์” ผู้มีความคิดสุดโต่งเกินใคร ถึงขั้นหาญกล้า ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยสายอีสาน ท้าทายอำนาจทหารในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 60 กว่าปีก่อน 

ครูครอง จันดาวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2451 ในครอบครัวชาวนาที่ค่อนข้างมีฐานะ ถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ที่ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร บิดา ชื่อ นายกี จันดาวงศ์ (ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นหมื่นศรีภักดี) มารดาชื่อ แม่เชียงวัน ทั้งบิดาและมารดามีเชื้อสายไทยย้อ มีบุตรด้วยกัน 9 คน ครูครอง เป็นคนสุดท้อง

วัยเด็ก ครูครอง เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดศรีษะเกษ ใกล้บ้าน จากนั้นต่อชั้นมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนมัธยมสกลราชวิทยานุกูล จนจบ จึงไปประกอบอาชีพเป็นครูที่บ้านตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน ต่อมาได้ย้ายมาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านบงเหนือ จนกระทั่งย้ายมาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดบ้านทรายมูล ตำบลพันนา ในอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

เสรีไทยสายอีสาน

“ครูครอง จันดาวงศ์” เป็นอดีตเสรีไทยสายอีสาน อีกทั้งยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร มีการต่อต้านคัดค้านระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และถูกจับข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนเมื่อปี 2491 และกบฏสันติภาพเมื่อปี 2495 จากนั้นได้รับการปล่อยตัวออกมาในช่วง พ.ศ. 2500 กรณีนิรโทษกรรมกึ่งพุทธกาล

ช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารโค่นจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการยุบภาและเปิดให้มีเลือกตั้งในปีเดียวกัน ครูครองลงสมัคร ส.ส.ก็ได้เป็น ส.ส.จังหวัดสกลนคร ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหารครั้งที่สองเพื่อยึดอำนาจตัวเองใน พ.ศ.2501 พร้อมกับปกครองในระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ ยกเลิกระบอบรัฐสภาและยุติการเลือกตั้ง ก็ได้กวาดล้างปราบปรามนักหนังสือพิมพ์และนักการเมือง

ตั้งสมาคมลับที่ชื่อ “สามัคคีธรรม”  

ต่อมา ครูครอง จึงต้องออกจากการเป็น ส.ส. มาประกอบอาชีพครู ควบคู่กับการทำเกษตรกรและค้าขายที่สกลนคร และยังทำงานร่วมกับประชาชน โดยมีจุดมุ่งหมายจัดตั้งให้ชาวนาชาวไร่รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นสำคัญ ครูครองได้แนะนำการทำเกษตรกรโดยให้ชาวบ้านลงแขกเพื่อช่วยเหลือกันในการทำนา โดยแสดงความคิดเห็นในเชิงต่อต้านเผด็จการอำนาจทหาร และได้ปลูกฝังล้มล้างอย่างสุดโต่ง 

ครูครอง และผองเพื่อน มีการจัดตั้งสมาคมลับที่ชื่อ “สามัคคีธรรม” ทำการต่อต้านอำนาจเผด็จการ ในยุคที่ทหารมีความเด็ดขาดกับบทลงโทษอย่างชัดเจน กระทั่งปลายปี 2503 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปราบปรามอย่างหนัก จนครูครองและเพื่อนครูถูกล่าหนีหัวซุกหัวซุนไปลี้ภัยอยู่ที่ภูพานชั่วคราว ก่อนจะแอบกลับมาบ้านในวันที่ 4 พฤษภาคม 2504 เพื่อเตรียมสัมภาระไปอยู่บนภู ระหว่างรอเพื่อน ในที่สุดครูครองก็ถูกจับกุมอีกครั้ง ในข้อหากบฏต่อความมั่นคง และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกับผู้ถูกจับกุมคนอื่นๆ รวม 108 คน ถูกนำตัวมาสอบสวนที่กรุงเทพฯ นานกว่า 20 วัน

เข้าพบ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งประหารยิงเป้า 

มีการกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายว่าก่อนที่จะทำการประหารนั้น ทหารได้นำตัวครูครองไปพบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะที่ถูกจับ ครูครองได้พูดว่า “ผมไม่ถือโทษโกรธตำรวจแต่อย่างไร เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ ขอแต่ให้ดำเนินคดีไปตามตัวบทกฎหมายก็แล้วกัน ผมไม่รู้สึกหวาดหวั่นเลย เพราะถูกจับเสียจนชินแล้ว” 

สุดท้ายก็ถูกนำตัวไปประหารชีวิตที่ อ.สว่างแดนดิน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 เวลา 11.30 น.  ณ ลานประหาร หลังจากกินข้าวและดื่มน้ำมื้อสุดท้ายด้วยอาการสงบ ครูครอง จันดาวงศ์ ถูกนำตัวเข้าหลักประหาร ใช้ผ้าปิดตาเรียบร้อย มีการอ่านคำตัดสินตามมาตรา 17 ของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครูครองได้เปล่งคำขวัญ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” จบประโยคเสียงปืนกลยิงรัว 90 นัด เวลา 12.13 น. ครูครอง จันดาวงศ์ ก็เสียชีวิตด้วยอายุ 54 ปี

รัฐบาลให้ข้อมูลว่า การประหารชีวิตครูครองในครั้งนี้ เป็นการก่อการกบฏต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ เพื่อป้องกันมิให้เป็นตัวอย่างในการกระทำผิดชนิดนี้ต่อไปภายหน้า เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการประหารชีวิต ซึ่งต่อมาปลายปี 2504 จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในคุกลาดยาว ได้แต่งเพลงวีรชนปฏิวัติ ให้ครูครอง จันดาวงศ์ และในเวลาต่อมาเพลงนี้ก็ยังได้รับการเผยแพร่และขับร้องกันสืบมาในขบวนการของฝ่ายประชาชน

ในขณะที่เวทีประหารดำเนินไป แตงอ่อน คู่ชีวิตครูครองกำลังทำนาอยู่ เธอไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน เมื่อมีคนไปแจ้งให้ทราบจึงรีบวิ่งมายังหลักประหาร พบเพียงร่างที่แหลกเละด้วยคมกระสุนปืน ท่ามกลางผู้คนที่ยืนมุงดูอยู่ห่างๆ  ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยจัดการกับร่างไร้วิญญาณที่ทอดร่างอยู่ ณ ลานกว้างนั้น เพราะกลัวจะถูกดึงเข้าไปพัวพันนำภัยมาถึงตัว แม้กระทั่งพ่อค้าโลงศพหลายรายยังปฏิเสธที่จะขายโลงให้

*** ถึงแม้เรื่องราวเหล่านี้จะล่วงเลยผ่านมาหลาย 10 ปี แต่กลุ่มประชาชนที่ตั้งตัวขึ้นมาเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจรัฐบาลทหาร ยังคงนำประโยคคำพูดที่ว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” กลับมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายสมัย เนื่องจากประเทศหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมายังไม่สามารถก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งจับมือปรองดองได้อย่างแท้จริง